เข้าใจปัญหา และ วิธีรับมือ เมื่อสุนัขมีพฤติกรรมก้าวร้าว กัดเจ้าของ!

 
 
 
ว่ากันว่าสุนัขที่ก้าวร้าว กัดเจ้าของ ทุกคนมักพุ่งเป้าไปที่สุนัขสายพันธุ์ดุๆ ที่ขึ้นชื่อและมักตกเป็นข่าวให้เราเห็นกันบ่อยๆ เช่น พิทบูล เทอร์เรีย , ร็อตไวเลอร์ , บางแก้ว ฯ คนทั่วไปก็มักจะมองว่าเป็นเพราะสุนัขเหล่านี้มีนิสัยดุร้าย ไม่เหมาะที่จะนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงใกล้ตัวคน เพราะอาจจะทำอันตรายกันคน หรือสัตว์อื่นได้ หารู้ไม่ว่าสายพันธุ์เล็กๆ น่ารักอย่าง ปอมเมอร์เรเนีนน ชิวาวา แจ็กรัสเซล ดัชชุน พุดเดิ้ล หรือ เฟร้นช์ บูลด๊อก ก็ดุ เอาแต่ใจ และกัดเจ้าของอย่างไร้เหตุผลไม่แพ้กัน เพียงแต่แผลมันไม่ใหญ่พอจนทำให้กลายเป็นข่าวดังได้

ทำไม หรือ อะไรเป็นเหตุทำให้หมากัดเจ้าของ แม้แต่ในกรณีที่รักแสนรักดั่งแก้วตาดวงใจ

ลองคิดกันง่ายๆว่า คนในครอบครัวเราแต่ละคน มีนิสัย อารมณ์ บุคลิก วิธีการรับมือกับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เพราะคนเราแต่ละคน เกิด หรือใช้ชีวิต และพบเจอกับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ทำให้เราเรียนรู้วิธีการจัดการที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ และการเลี้ยงดู สุนัขของเราก็เช่นกัน หากแต่สุนัขต่างกับคนที่การใช้สัญชาตญาณในการดำรงชีวิต
ส่วนใหญ่สุนัขจะมีสัญชาตญาณในการเป็นนักล่าและนักสู้สูง ประสาทการรับรู้ไว ไวต่อสิ่งเร้าหรือแรงกระตุ้นต่างๆ ... แต่ทั้งนี้ ปัจจัยในเรื่องของสายพันธุ์ของสุนัขนั้น ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่จะเป็นสิ่งที่บ่งชี้ได้ว่าสุนัขตัวนั้นอาจมีนิสัยดุหรือก้าวร้าว เพราะในความเป็นจริงแล้ว ปัจจัยที่สำคัญกว่าเรื่องของสายพันธุ์ของสุนัข ที่จะสามารถบ่งบอกได้ว่าสุนัขจะดุหรือไม่นั้นอยู่ที่้ "ลักษณะวิธีการเลี้ยงดู" และ"พฤติกรรมที่เจ้าของปฏิบัติกับสุนัขของตัวเอง" คือจุดที่สำคัญที่สุดที่เจ้าตูบกัดเจ้าของ

 
 
 
 

ไม่ว่าสุนัขสายพันธุ์ไหนก็ "ดุ" และกัดเจ้าของได้ถ้าเลี้ยงผิดวิธี

ไม่ว่าจะเป็นหมาไทย หรือหมาเทศ ตัวใหญ่ หรือตัวเล็ก หูตั้ง หรือหูตูบ ก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นสุนัขที่จะดุได้ ไม่จำเป็นเลยที่สุนัขดุ จะต้องเป็นสุนัขตัวใหญ่หน้าโหดเท่านั้น ... เพราะส่วนใหญ่แล้วพฤติกรรมดุร้าย ก้าวร้าว ของสุนัข มักจะเกิดมาจากลักษณะการเลี้ยงดูของผู้เลี้ยง ที่มีความเข้าใจผิดๆ ในการเลี้ยงสุนัข

เราลองมาแบ่งสุนัขออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ

1. สุนัขสายโหด อย่างนักรบ บ้าสงคราม เช่น พิทบูล บางแก้ว ร็อตไวเลอร์

เนื่องจากขนาดตัวที่ใหญ่ แรงเยอะ บ้าพลัง วางอำนาจ เจ้าของหลายคน มักจะคิดว่าสุนัขของตัวเองไม่เหมาะกับการพาออกไปเข้าสังคม เพราะยากต่อการควบคุม กลัวจะเกิดอันตรายต่อคนอื่น ดังนั้นจึงเลือกที่จะขัง ล่าม หรือกักบริเวณสุนัขเอาไว้เพื่อความปลอดภัยและไม่ต้องเสี่ยงต่อการรับผิดชอบต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้น แต่ภัยเงียบที่คุณลืมมอง คือความกดดันที่อยากใช้ชีวิต เพื่ออยู่รอดจากการกักขัง น่ากลัวเหมือนระเบิดเวลาที่นับถอยหลัง สุนัขที่ไม่ดุ ไม่มีพลังงานของผู้นำก็จะก้มหน้ายอมรับ แต่สุนัขที่เป็นผู้นำ หรือดุก็จะดิ้นรนต่อสู้เพื่ออยู่รอด

พฤติกรรมการเลี้ยงสุนัขแบบนี้จะส่งผลให้สุนัขมีนิสัยดุและก้าวร้าว เนื่องจาก สุนัขนั้นเป็นสัตว์สังคม การที่สุนัขไม่ได้พบปะผู้คน หรือสุนัขตัวอื่นๆ บวกกับการที่ถูกกักขัง หรือล่ามไว้ตลอดเวลา จะทำให้สุนัขเกิดความระแวงต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว เนื่องจากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความกดดัน ทำให้สุนัขเกิดความเครียด เมื่อได้รับอิสระสุนัขอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวและดุร้ายได้

นอกจากนี้ การเลี้ยงสุนัขโดยไม่ให้เขารู้จักเข้าสังคม ยังทำให้สุนัขขาดการเรียนรู้และการใช้สัญชาตญาณต่างๆ เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันสุนัขตัวอื่นๆ หรือสมาชิกคนอื่นๆ ที่อยู่ในครอบครัว (หรือบริเวณใกล้บ้าน) สุนัขอาจจะไม่สามารถแยกได้ว่าใครเป็นมิตรหรือศัตรู ... ด้วยเหตุผลเหล่านี้ การเข้าสังคมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับสุนัข ไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหนก็ตาม

2. สายแข็ง แบบนักล่าที่ชอบกีฬาเอาชนะ เช่น แจ็ครัสเซล ดัชชุน เฟร้นช์ บูลด๊อก

สุนัขพวกนี้ชอบล่า ชอบแข่ง ไวต่อสิ่งเร้า แต่เจ้าของกลับไม่มีเวลาพาไปออกกำลังกาย และมักบอกว่าที่บ้านมีสนามมันก็วิ่งบ้าทั้งวันแล้ว ไม่พอเหรอ การวิ่งบ้าพลัง ไปเห่าทางนั้นที ทางนี้ที ขุดดินปล่อยพลัง ทิ้งกลิ่นไว้ตลอดเวลา ไม่ใช่การออกกำลังกายที่สร้างความสงบให้กับสุนัข กลับทำให้พวกเค้าใช้สัญชาตญานที่เป็นอยู่ในทางที่ผิด จนหงุดหงิด เอาแต่ใจ และตกใจง่าย เพราะต้องมั่ววิ่งเฝ้าบ้านทั้งวัน พาลไปกัดเจ้าของแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

3. สายมินิมอล หรือ สุนัขสายพันธุ์เล็ก (ตัวฟู หน้าตาบ้องแบ๊วน่ารัก) เช่น ชิวาวา ปอมเมอร์เรเนียน พุดเดิ้ล

เจ้าของกลุ่มนี้ชอบเลี้ยงสุนัขของตัวเองเหมือนเลี้ยงเด็กตัวเล็กๆ เหมือนเจ้าหญิง เจ้าชาย นั่งรถเข็น หน้าตั้ง เย่อหยิ่ง คิดว่าตัวเองเป็นคนไปแล้ว กรณีเจ้าของชอบโอ๋ ชอบตามใจ (เรียกง่ายๆ ว่าสปอยล์ ) แบบนี้ทำให้สุนัขกลุ่มนี้ชอบเห่า ส่งเสียงดังโวยวายเหมือนคน ที่ใช้เสียงสื่อสาร หรือมีท่าทีที่จะทำร้ายคนแปลกหน้าเวลาใครเข้าใกล้เจ้าของ เข้าบ้าน หรือมองหน้า แล้ว เจ้าของก็มักจะไม่ดุหรือห้าม กลับเห็นเป็นเรื่องตลก น่ารักน่าเอ็นดูเพราะคิดว่าเป็นสุนัขพันธุ์เล็ก คงไม่สามารถทำอันตรายต่อใครได้ แต่รู้หรือไม่ว่ามันคือตลกร้าย ของพวกนักเลงที่ชอบทำตัวเบ่ง กล้ามโต และคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล ไม่เห็นหัวใคร แม้แต่เจ้าของเองก็พลอยโดนหางเลขไปด้วย

... การปล่อยให้สุนัขมีนิสัยแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยที่ผู้เลี้ยงไม่ดุ ไม่เตือน ไม่หาวิธีควบคุมจะเป็นการที่ทำให้สุนัขเคยตัว และคิดว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้อง ซึ่งในระยะยาวก็จะส่งผลให้เขากลายเป็นสุนัขตัวเล็กๆ ที่มีนิสัยความก้าวร้าวได้

การเล่นกับสุนัขด้วยวิธีการผิดๆ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้สุนัขมีนิสัยก้าวร้าวได้ โดยที่ผู้เลี้ยงเองอาจไม่รู้ตัว เช่น ผู้เลี้ยงบางคนชอบแกล้งยั่วยุสุนัขให้โกรธ ด้วยการเขย่าหัวแรงๆ , ล่อให้สุนัขกัดสิ่งของต่างๆ หรือยั่วยุให้โกรธด้วยท่าทาง การแย่งของจากสุนัข การแกล้ง หรือการปล่อยให้สุนัขเหล่านี้ กัดสะบัดของเล่นบ่อยๆ การเล่นในลักษณะนี้จะเป็นการกระตุ้นให้สุนัขใช้ความรุนแรง โดยขาดการควบคุม ขาดสติ และถ้าหากผู้เลี้ยงเล่นกับสุนัขด้วยวิธีนี้เป็นประจำ สุนัขก็จะมีนิสัยที่ก้าวร้ายรุนแรงติดตัวไป และยิ่งปล่อยไว้นานเท่าไหร่ ก็จะยิ่งยากต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

 
 

หลักจิตวิทยาที่ช่วยแก้ปัญหาเมื่อสุนัขมีพฤติกรรมก้าวร้าว!

สำหรับหลักจิตวิทยาง่ายๆ ที่จะสามารถช่วยแก้ปัญหาพลังงานอันล้นเหลือของสุนัขได้นั้น ผู้เลี้ยงอาจใช้วิธีชวนสุนัขทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นการออกกำลังกายด้วยการใช้สมาธิ เช่น เล่นโยนรับลูกบอลแต่ไม่แย่ง เป็นการเล่นโดยใช้คำสั่ง, เล่นซ่อนหาของ การให้สุนัขวิ่งบนลู่วิ่งสุนัข การว่ายน้ำ การที่เจ้าของขี่จักรยานโดยให้สุนัขวิ่งข้างๆ ฯลฯ การให้สุนัขทำกิจกรรมเหล่านี้เป็นประจำจะช่วยให้สุนัขสามารถควบคุมพลังงานของตัวเองได้ดีขึ้น

หรือในกรณีที่สุนัขไม่ได้มีพลังงานมากมายนัก แต่ในบ้านของผู้เลี้ยงไม่มีใครทำหน้าที่เป็น "จ่าฝูง" (อาจจะเลี้ยงสุนัขตัวเดียว และผู้เลี้ยงตามใจไม่ควบคุม ห้าม ดุ หรือฝึกเพื่อให้อยู่ภายใต้คำสั่ง) สุนัขเลยวางตำแหน่งของตัวเองให้อยู่ในตำแหน่งสูงสุดของบ้าน นั่นคือการเป็นจ่าฝูง ทำให้สุนัขรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้นำ ไม่ฟังคำสั่งใคร และยังแสดงอำนาจข่มสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว

ผู้เลี้ยงที่ดีต้องรู้จักสุนัขของตัวเอง และใช้จิตวิทยาในการเลี้ยงสุนัข

การรู้จักสุนัขของตัวเองนั้น เราจะต้องรู้จักเขาทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ ผู้เลี้ยงจะต้องรู้จักอารมณ์ของสุนัขของตัวเองในแต่ละช่วงว่า มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหรือไม่ และต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร

อย่างทางด้านร่างกาย สุนัขอาจมีอารมณ์ก้าวร้าวหรือดุ ได้ในช่วงที่ฮอร์โมนของเขาเปลี่ยนแปลง เช่น ช่วงติดสัด ช่วงที่สุนัขตั้งท้อง ช่วงเลี้ยงลูก หรืออาจเกิดจากการที่ร่างกายของสุนัขมีความผิดปกติ มีอาการเจ็บป่วยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ปวดฟัน ปวดท้อง หรืออาจมีบาดแผล เป็นต้น

ส่วนในด้านของจิตใจนั้น เป็นเรื่องที่ผู้เลี้ยงเองต้องรู้จักใช้ความเข้าใจและใช้จิตวิทยาในการเลี้ยงสุนัข โดย ผู้เลี้ยงจะต้องเข้าใจสาเหตุของพฤติกรรมดุหรือก้าวร้าวของสุนัขก่อนว่าเกิดจากอะไร เช่น สุนัขมีพลังงานสูง มีความเป็นผู้นำสูง ถ้าหากผู้เลี้ยงไม่รู้จักวิธีการจัดการกับพลังงานในร่างกายสุนัขที่มีอย่างเหลือเฟือ ก็อาจจะทำให้สุนัขมีพลังงานเหลือมากเกินไป และมีความต้องการที่จะระบายพลังงานดังกล่าว จึงแสดงออกมาในรูปแบบของพฤติกรรมก้าวร้าวและดุดัน เนื่องจากไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ โดยอาจมีพฤติกรรม เห่าหอนมากผิดปกติ หวงที่อยู่ หวงของ ขุด กัด ทำลายข้าวของภายในบ้าน ไล่ผู้ที่เข้ามาในอาณาเขตของตนเอง กัดคนอื่น และกัดเจ้าของ

บทสรุปของวิธีการรับมือเมื่อสุนัขกัดเจ้าของ

บทสรุปของวิธีการรับมือเมื่อสุนัขกัดเจ้าของ คือ เจ้าของต้องมองปัญหาของตัวเองก่อนว่า เหมาะกับสุนัขพันธุ์ไหน เอามาเลี้ยงแล้ว มีเวลาดูแลความเป็นอยู่แค่ไหน มีเวลาพาเค้าทำกิจกรรมมากน้อยแค่ไหน หันกลับมาเข้าใจเค้า หาเวลาฝึกปรับพฤติกรรมง่ายๆ ด้วยการวางกฎระเบียบภายในบ้าน ทำทุกอย่างให้เป็นประจำ เหมือนเป็นตารางชีวิตเค้า ฝึกคำสั่งเค้า เล่นกับเค้า พาเค้าพบปะสังคมคน สังคมหมาตั้งแต่เล็กๆ ทำให้เค้ารู้สึกว่าเค้ามีประโยชน์ ได้ทำงาน ตามคำสั่งเจ้านาย ได้ออกกำลังกายเผาผลาญพลังงานก่อนค่อยได้อาหารเป็นรางวัล เปลี่ยนนักรบ นักฆ่า นักกีฬาบ้าเลือด เป็นนักกีฬาที่มีน้ำใจ อ่อนโยน มีสังคม มั่นใจในตัวเอง และอยู่กับตัวเองได้ จะได้ไม่ขี้ระแวง ขี้กลัว ขี้เห่า ขี้พาล ขี้หวง

หากคุณรู้ว่าสุนัขของคุณดุ คุณก็ต้องพยายามหล่อหลอมจิตใจให้เค้าอ่อนโยน อย่าปัดความรับผิดชอบ เพราะเค้าในวันนี้คือสิ่งที่คุณเป็นคนหล่อหลอม หากทำใจให้กว้าง และเข้มแข็ง เจ้าของทุกคนจะต้องทำได้ไม่มากก็น้อย แต่หากเป็นเคสที่หนักหนาก็ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือหาข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อแก้ไขต่อไป อย่าลืมว่ามนุษย์เกิดมาเพือแก้ปัญหาอยู่แล้ว

 
 
 
 
สำหรับเจ้าของสุนัขที่อยากปรับพฤติกรรมสุนัข อยากฝึกสุนัขให้ปฏิบัติตามระเบียบภายในบ้าน สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดคอร์สฝึกสุนัขได้ที่ โรงเรียนฝึกสุนัข Jojo House Dog Master ทางเรามีคอร์สฝึกสุนัขเพื่อช่วยแก้ปัญหาต่างๆทั้งแบบฝึกที่บ้าน และอยู่ประจำที่โรงเรียน
 

Pin It on Pinterest