Journey เป็นสุนัขสายพันธุ์โกลเด้น รีทริฟเวอร์ (Golden Retriever) และเป็นสุนัขที่ครูโจอี้รักมากๆตัวนึงเลยค่ะ
Journey ทำงานกับครูโจอี้มาเยอะแยะมากมาย ตั้งแต่ยังเด็ก ไม่ว่าจะเป็น เล่นละครเรื่องแหวนดอกไม้ ถ่ายมิวสิควีดีโอของสแตมป์ ถ่ายโฆษณา S&P ฯลฯ และ Journey ยังเป็นจ่าฝูงคอยช่วยครูโจอี้ฝึกสุนัขในหลายๆเคสอีกด้วย Journey เป็นผู้ช่วยครูฝึกที่ดีมากๆ แต่เมื่อไม่นานมานี้ ครูโจอี้ก็ต้องสูญเสีย Journey ไปค่ะ เนื่องจาก Journey เป็นโรค Lyme Disease หมอได้พยายามรักษา Journey อย่างดีที่สุดแล้ว แต่ Journey ก็ทนต่อความเจ็บปวดของโรคไม่ไหว และจากเราไปในที่สุด วันนี้ครูโจอี้ก็เลยอยากจะมาแชร์เรื่องราวของโรค Lyme Disease ที่ Journey เป็นให้กับเพื่อนๆทุกคนเพื่อเป็นอุทาหรณ์ ครูโจอี้หวังว่าเรื่องราวของ Journey จะเป็นประโยชน์กับสุนัขตัวอื่นๆ และช่วยต่อเวลาให้เจ้าของและสุนัขได้ใช้เวลาแห่งความสุขได้มากขึ้นอีกนิด
สาเหตุของโรคลายม์ (Lyme Disease)
โรคลายม์ (Lyme Disease) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Spirochete ที่ชื่อ Borrelia burgdorferi โดยเชื้อตัวนี้สามารถติดต่อไปยังสัตว์ป่วยผ่านทางเห็บบางชนิดที่มากัด เช่น Western blacklegged tick (Ixodes pacificus), Eastern blacklegged tick หรือ Deer tick (Ixodes scapularis)
ลายม์เป็นโรคร้ายจากเห็บอีกโรคหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กับโรคพยาธิเม็ดเลือด แต่โรคนี้ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในเมืองไทยสักเท่าไหร่นัก เนื่องจากยังพบสุนัขที่ป่วยเป็นโรคนี้ค่อนข้างน้อย ตามปกติแล้วโรคนี้มักจะระบาดอยู่ในแถบทวีปอเมริกาเหนือ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาคา เป็นต้น
อาการของโรคลายม์ (Lyme Disease)
สุนัขที่ป่วยเป็นโรคลายม์จะมีอาการปวดตามข้อ มีอาการข้ออักเสบ ทำให้เดินกะเพลก และเคลื่อนไหวลำบาก สุนัขมักจะเอาแต่นอน เซื่องซึม มีไข้ และกินอาหารน้อยลง เนื่องจากความเจ็บปวด โดยสุนัขจะเริ่มแสดงอาการเจ็บขา (lameness) หลังจากได้รับเชื้อผ่านเห็บแล้วประมาณ 2-5 เดือน สุนัขบางตัวอาจจะมีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย บางตัวเป็น ๆ หาย ๆ แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษา สุนัขจะกลับมามีอาการได้อีกใน 2-3 สัปดาห์ หรืออีก 1 เดือน สุนัขบางตัวเป็นเรื้อรังยาวนานอาจส่งผลต่อหัวใจและไต ทำให้เสียชีวิตได้ แต่แม่สุนัขที่ป่วยเป็นโรคลายม์จะไม่สามารถส่งต่อเชื้อไปยังลูกสุนัขได้
วิธีการรักษาโรคลายม์ (Lyme Disease)
สัตว์แพทย์ จะทำการตรวจวินิจฉัยโรคโดยการตรวจเลือดด้วยชุดตรวจโรค ซึ่งง่าย สะดวก สามารถทราบผลรวดเร็วภายใน 10-15 นาที หรือ อาจทำการตรวจยืนยันด้วยวิธี polymerase chain reaction (PCR) test ซึ่งการรักษาโรคลายม์ (Lyme Disease) นั้น สัตว์แพทย์จะทำการรักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะ ต่อเนื่อง 30 วัน และให้ยาแก้ปวด-ลดอาการอักเสบในบางเคส สัตว์แพทย์จะทำการรักษาแบบประคับประคองอาการจนกว่าสุนัขจะดีขึ้น
ในเคสของ Journey เขามีชีวิตอยู่ได้เพียงไม่ถึง 10 วันหลังจากเป็นโรค ลายม์ (Lyme Disease) เพราะ Journey มีโรคข้อสะโพกเสื่อมอยู่ก่อนแล้ว ทำให้ Journey ร่างกายอ่อนแอ ไม่สามารถต่อสู้กับ โรคลายม์ (Lyme Disease) ได้อีก ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้นะคะ แต่ ไม่ว่าวัคซีนหรือยารักษาโรคจะดีแค่ไหน การลดความเสี่ยงของการเกิดโรคด้วยการระมัดระวัง ป้องกัน ไม่ให้สุนัขไปรับเชื้อแบคทีเรียมาจากเก็บตั้งแต่แรกจะดีที่สุด เพราะคุณจะไม่มีทางรู้เลยว่า ถ้าสุนัขเป็นโรคนี้ขึ้นมา คุณจะเหลือเวลาแห่งความสุขอีกเท่าไหร่ ครูโจอี้หวังว่า เรื่องราวของ Journey จะเป็นประโยชน์กับเจ้าของสุนัขทุกท่านไม่มากก็น้อยนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์