Two or More dogs by Sarah Anderson
เมื่อเราเลี้ยงสุนัขเพียงตัวเดียวในบ้านร่วมกับสมาชิกครอบครัว พวกเราคงไม่สามารถสังเกตเห็นตำแหน่งในฝูงของสุนัขได้ แต่สุนัขเองจะรู้โดยสัญชาตญาณว่ามันอยู่ลำดับสุดท้ายของฝูง (ฝูง=ครอบครัวมนุษย์และตัวมันเอง) แต่เมื่อเราเลี้ยงสุนัขตัวที่สอง ตัวที่สาม ทุกๆอย่างเริ่มเปลี่ยนไป เพราะพวกมันเองจะมีพฤติกรรมฝูงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ (pack behavior)
ความขัดแย้งกันเองระหว่างสุนัขบ้านตั้งแต่สองตัวขึ้นไป เกิดขึ้นได้เมื่อตำแหน่งพวกมันไม่ชัดเจนนั่นเอง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นเมื่อ...
- เราให้อาหารพวกมันอย่างเท่าเทียมกัน แทนที่จะให้จ่าฝูงกินก่อนทุกๆครั้ง
- เราเข้าไปขัดจังหวะ หรือบิดเบือนอำนาจจ่าฝูง (อาจจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ) เช่น ให้ความสนใจ, ให้รางวัลสุนัขตำแหน่งลูกฝูงเป็นพิเศษ ทำให้อำนาจของจ่าฝูงคลุมเครือ ไม่ชัดเจนในหมู่สุนัขด้วยกันเอง
- เราเข้าไปห้าม/หยุดการแสดงอำนาจของจ่าฝูง เช่น เข้าไปห้ามการกินอาหารก่อนของสุนัขจ่าฝูง, เข้าไปห้ามการครอบครองของเล่นของจ่าฝูง, เข้าไปห้ามการสั่งสอนสุนัขลูกฝูง, เข้าไปไล่ที่นอนของจ่าฝูง และให้ตัวอืนไปนอนตรงนั้นแทน
- เมื่อมีสุนัขสมาชิกใหม่เข้ามาในบ้าน สุนัขจึงต้องจัดลำดับใหม่
- เมื่อสุนัขที่มีอยู่เดิมตาย หรือย้ายออกไปที่อื่น ลำดับในฝูงอาจจะเปลี่ยน
- เมื่อสุนัขที่หายไปนาน กลับมาอยู่ร่วมกันในบ้านอีกครั้ง
- ลูกสุนัขเริ่มโตเต็มวัย (ตั้งแต่ 10 เดือนถึง 2 ปี) ลูกสุนัขจะเริ่มท้าทายจ่าฝูง
- เมื่อจ่าฝูงปัจจุบันแก่ชราลง และไม่สามารถรักษาความเป็นจ่าฝูงไว้ได้ ตัวรองๆจึงต้องแข่งขันเพื่อแย่งชิงตำแหน่ง
ในทุกๆฝูงสุนัข จะมีจ่าฝูงอยู่เสมอ (จ่าฝูง หรือเรียกอีกชื่อว่า ตัวอัลฟ่า ซึ่งจะอยู่ตำแหน่งสูงสุดในฝูง) เมื่อสุนัขอยู่ร่วมกับครอบครัวมนุษย์ (people+dog pack) พวกมันควรจะเห็นเราเป็นอัลฟ่าอย่างแท้จริง และในหมู่สุนัขเอง(dog pack) ก็มีอัลฟ่าอีกตัวเช่นกัน
มนุษย์เราเอง ต้องไม่นำเรื่องของความเท่าเทียมกันของมนุษย์ไปใช้ในหมู่สุนัขโดยเด็ดขาด และบ่อยๆครั้งทีเดียวที่พวกเรา (อาจจะด้วยความรักและหวังดี) หยิบเอา "ความเท่าเทียมกัน" เข้าไปทำลายลำดับชั้นในฝูงสุนัข และทำให้พวกมันต่อสู้กันเองด้วยความสับสน เพราะความไม่ชัดเจนในลำดับตำแหน่งของตัวมันเองในฝูง หรือด้วยความอคติของพวกเรา ไปตัดสินจากลักษณะภายนอก/รูปทรงว่า พวกมันตัวใดควรเป็นจ่าฝูง หรือแม้แต่ความชมชอบเป็นพิเศษของเรา เราจึง "แต่งตั้ง" จ่าฝูงให้พวกมัน โดยใช้บรรทัดฐานของมนุษย์นั่นเอง (เราตั้งจ่าฝูงเอง แต่หมามันไม่ยอมรับกันเองซะอย่าง)
มีทฤษฎีกล่าวไว้ว่า สุนัขมันไม่สนใจว่ามันจะอยู่ตำแหน่งที่เท่าไรของฝูง ไม่ว่าจะที่หนึ่งหรือที่โหล่ แต่มันสนใจเพียงว่ามันอยู่ตรงไหนของฝูง จะเป็นที่หนึ่งหรือที่โหล่ก็ได้ ขอให้เป็นแบบนี้ทุกๆวัน ไม่ใช่ว่าวันนี้เป็นที่หนึ่ง พรุ่งนี้เป็นที่โหล่ วันมะรืนเป็นที่หนึ่งอีก
ปัญหาที่พบเห็นบ่อยๆจึงเกิดขึ้น เมื่อมนุษย์อย่างเราๆท่านๆแสดงอาการผิดที่ผิดทาง เช่น ไปโอ๋สุนัขโอเมก้า (โอเมก้าคือตำแหน่งล่างสุดของฝูง) ปฎิบัติกับมันดังสุนัขอัลฟ่า และกลับกัน ไม่สนในใยดีสุนัขอัลฟ่าตัวจริง ซึ่งทำให้เกิดลูกโซ่ สร้างความสับสนและเกิดการต่อสู้ระหว่างกันขึ้น เพราะอัลฟ่าตัวจริงย่อมต้องพยายามเรียกร้องตำแหน่งคืน
สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดเมื่อเราเลี้ยงสุนัขตั้งแต่สองตัวขึ้นไปคือ เราต้องสังเกตให้ได้ว่าสุนัขตัวไหนคือ อัลฟ่า และตัวไหนคือ โอเมก้า
วิธีสังเกตลักษณะสุนัขอัลฟ่า คือ- เล่นชักกะเย่อชนะสุนัขตัวอื่นๆทุกๆครั้ง
- ได้รับความสนใจจากสุนัขตัวอื่นๆเสมอ ขยับปั๊บ ตัวอื่นๆต้องขยับตาม ลุกปั๊บก็ลุกตามๆกัน
- แทบจะไม่เคยเลียปากสุนัขตัวอื่น
- เมื่อจ้องตากัน สุนัขตัวนั้นจะชนะทุกครั้ง ไม่เคยหลบตาก่อน
- แสดงอาการเหมือนอิจฉา เช่น วิ่งเข้าไปชนด้านข้างสุนัขตัวอื่น เมื่อสุนัขตัวอื่นได้รับความสนใจจากเจ้าของ
- หยิบฉวยหรือแสดงอาการครอบครองของเล่น หรืออาหาร
- เลือกที่นอนในบริเวณที่ดีที่สุดก่อนเสมอ
- แทรกตัวเข้าไปเป็นตัวแรกก่อนเสมอ ไม่ว่าจะตอนเข้าหรืออกจากประตู
- ขึ้นขี่สุนัขตัวอื่น ไม่ว่าตัวผู้หรือตัวเมีย
- มักจะยอมแพ้ หรือเลิกเล่นชักกะเย่อก่อน
- ให้ความสนใจกับสุนัขตัวอื่นๆ เลียปากตัวอื่น โดยเฉพาะการเลียปากตัวอัลฟ่า
- เวลาถูกจ้องตา มักจะหลบตาก่อน หรือแม้แต่หลบตาเจ้าของด้วย
- ยินยอมหรือหลีกทางก่อน ไม่ว่าจะเรื่องอาหาร, ที่นอน, ของเล่น
- นอนหงายและยอมให้เกาท้อง
- ฉี่แตก เมื่อเจอสุนัขตัวอื่นๆ หรือแม้แต่กับเจ้าของเอง
ในสถานะการณ์ทั่วๆไป เราจะสังเกตเห็นตัวอัลฟ่า และตัวโอเมก้าได้ง่ายที่สุด ยิ่งถ้ามีสุนัขเพียงสองตัว เราก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว แต่ถ้ามีสุนัขมากกว่าสองตัวขึ้นไป คุณจะสังเกตเห็นตำแหน่งสุนัขในฝูงเปลี่ยนไปมา และไม่แน่ คุณอาจจะเห็น ตัวอัลฟ่าคือสุนัขตัวเมีย ซึ่งเป็นจ่าฝูงจริงๆ และขณะเดียวกันก็เห็นอัลฟ่าตัวผู้ หรือเบต้า ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆจะเป็นจ่าฝูง แต่จริงๆยังยินยอมให้กับจ่าฝูงตัวจริงอยู่
ครั้น เมื่อคุณเห็นชัดแล้วว่า สมาชิกทุกๆตัวอยู่ลำดับใดในฝูง หน้าที่ต่อไปของคุณก็คือ สร้างความมั่นใจ, ความชัดเจนและยืนยันตำแหน่งเหล่านั้นให้กับสุนัขทุกตัว เพราะถ้าตัวอัลฟ่าไม่มั่นใจในตำแหน่งของมัน มันก็จะแสดงอาการก้าวร้าวเกินเหตุ เพื่อสื่อสาร(ตะโกน)ยืนยันตำแหน่งจ่าฝูงให้ตัวอื่นๆรู้
ดังนั้น เราจึงควรเข้าใจและปฎิบัติตามแนวทางการยืนยันลำดับในฝูง เพื่อช่วยให้สุนัขมั่นใจในลำดับของมันอย่างชัดเจน
1.สุนัขอัลฟ่าได้เลือกทุกๆอย่างก่อนเสมอ เช่น อาหาร, ของเล่น, ที่นอน แต่ต้องจำไว้ด้วยว่า แม้มันจะเลือกก่อนเสมอ มันจะเปลี่ยนใจทีหลังและไปขโมยชิ้นอื่นๆแทนไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ให้สายตาไปข่มขู่, คำราม, เบียดตัวกระแทกตัวอื่น เพื่อเอาเพิ่ม
หน้าที่อีกอย่างของเจ้าของก็คือ อย่าให้มันถูกตัวอื่นๆข่มเหง
ตัวอัลฟ่าเองสามารถที่จะปกป้องของเล่นของมันเองได้ แต่ไม่ใช่การคำราม/โวยวายข้ามห้องไปยังสุนัขตัวอื่นๆ, ไม่ใช่การคำรามแบบว่าไม่ให้ตัวอื่นๆเดินเข้าประตูมาได้เลย, ไม่ใช่การคำรามหวงของเล่นทุกชิ้น ถ้ามันเริ่มมีพฤติกรรมเหล่านี้ ให้เราหยิบของที่มันหวงออกไปจากสายตา เพื่อลดอารมณ์ของมันลงอย่างทันที (เมื่อไม่มีของให้หวง ก็ไม่รู้จะคำรามไปทำไม)
2.วิธีที่ดีที่สุดที่จะยืนยันตำแหน่งพวกมันได้ โดยเฉพาะเมื่อมีสุนัขใหม่เข้ามาร่วมฝูง ก็คือ การให้ขนมพวกมันตามลำดับฝูง ยกตัวอย่างเช่น ตัวอัลฟ่าชื่อ โรเวอร์ และตัวโอเมก้าชื่อ ฟิโด้
เราจะสั่งให้สุนัขทุกตัวนั่งก่อน แล้วออกคำสั่งว่า "โรเวอร์! ขนม" แล้วจึงยื่นขนมให้โรเวอร์ จากนั้น จึงออกคำสั่งว่า "ฟิโด้! ขนม" แล้วจึงยื่นขนมให้ฟิโด้ การทำแบบนี้ เราต้องทำด้วยเสียงดังชัดเจนต่อหน้าพวกมันทุกตัว และยังเป็นการยืนยันตำแหน่งในฝูงใหญ่ (มนุษย์และสุนัข) ด้วยว่า พวกมันอยู่ลำดับล่างสุด เพราะเราเป็นผู้ให้อาหารพวกมัน
ข้อควรระวัง ก็คือ ความที่เราคิดว่า เราจะพยายามทำให้มันชัดเจนมากๆ แต่ขณะเดียวกัน เราต้องไม่ไปส่งเสริมตัวอัลฟ่ามากจนเกินไป เพราะนั่นหมายถึงการที่เราเพิกเฉยต่อตัวโอเมก้าอย่างสมบูรณ์ ซึ่งทำให้ตัวโอเมก้าไม่ค่อยมีความมั่นใจ (ไม่เคยโดนชมเลยสักครั้ง) และที่แย่ที่สุดก็คือ ตัวอัลฟ่าเห็นว่า จ่าฝูงของจริงอย่างเรา ยังเพิกเฉยต่อตัวโอเมก้า ทำให้ตัวอัลฟ่าแสดงอาการข่มขู่ คำรามใส่ตัวโอเมก้าเสมอๆ เพราะมันต้องการรับใช้เรานั่นเอง (เดี๋ยวผมช่วยจัดการโอเมก้าเองครับนาย...)
3.ถึงแม้ว่าตัวอัลฟ่าจะ ได้รับความสนใจมากกว่าตัวอื่นๆนิดหน่อย แต่เราก็ยังสามารถให้ความสนใจกับตัวโอเมก้าได้โดยที่ไม่ทำให้เสียระบบ ตำแหน่งฝูง วิธีการง่ายๆก็คือ เราต้องไม่ล็อคตัวอัลฟ่าไว้อีกห้อง และแสดงความสนใจตัวโอเมก้าแบบสองต่อสอง แต่กลับกัน คือ เราต้องแจกงานให้ตัวอัลฟ่า เพื่อให้มันได้รับใช้และทำงานเอาอกเอาใจเรา เช่น อาจจะเล่นขว้างลูกบอลกับมัน และแสดงความเอ็นดูกับตัวโอเมก้าไปด้วย (ระหว่างที่ตัวอัลฟ่ากำลังวิ่งไปเก็บบอลสุดสนามโน่น เราก็ให้ความสนใจกับตัวโอเมก้าไปในเวลาเดียวกัน) หรืออาจจะสั่งให้ตัวอัลฟ่าหมอบนิ่งๆ ขณะที่เรากำลังแปรงขนให้ตัวโอเมก้า (แน่นอนว่า เราแปรงขนให้ตัวอัลฟ่าไปก่อนหน้านั่นแล้ว) เมื่อเราแปรงขนเสร็จทั้งคู่ เราจะปล่อยพวกมันพร้อมๆกัน และชมตัวอัลฟ่าก่อน จากนั้นชมตัวโอเมก้า ชมมันทั้งสองตัวเท่าๆกัน เพียงแต่เลือกชมตัวอัลฟ่าก่อนโอเมก้าเท่านั้น
4.หลีกเลี่ยงการอุ้ม สุนัขตัวใดตัวหนึ่งเพียงตัวเดียวโดยไม่สนใจตัวอื่น เมื่อไหร่ก็ตามที่สุนัขนั่งอยู่บนตักเรา หรือเรากำลังอุ้มมันอยู่ (สุนัขถูกยกขึ้นในตำแหน่งสูงกว่าตัวอื่นๆ) มันจะมีอาณาเขตและมองว่าเราก็อยู่ในอาณาเขตมันด้วย ดังนั้นวิธีการที่ถูกต้อง เราควรจะทำกับตัวอัลฟ่าก่อนและชมมัน จากนั้นจึงสั่งให้อัลฟ่าหมอบ แล้วค่อยอุ้มโอเมก้า เมื่อเสร็จหมดแล้ว เราปล่อยพวกมันทั้งหมดพร้อมกัน, ชมอัลฟ่าก่อน ตามด้วยชมโอเมก้า
ในกรณี ที่ตัวอัลฟ่ามีแรงขับทางอาหารสูง การสั่งให้ทุกๆตัวนั่งก่อน แล้วเราจึงให้รางวัลตามลำดับ เป็นวิธีการทางจิตวิทยาที่ทำให้สุนัขเคารพระยะระหว่างกัน และแม้แต่ตัวอัลฟ่าเอง ก็ยังต้องนั่งรอให้ตัวอื่นๆกินให้เสร็จหมดทั้งกลุ่ม จึงจะปล่อยพร้อมๆกัน
วิธีการนี้ ป้องกันไม่ให้ตัวอัลฟ่าเข้าข่มขู่หรือก้าวร้าวด้วยแย่งอาหารจากตัวโอเมก้า ขณะที่ตัวโอเมก้ากำลังกิน (ทั้งๆที่ตัวเองก็กินไปแล้ว)
ปัญหาที่ เกิดขึ้นบ่อยๆคือ มนุษย์อย่างเรามักจะรู้สึกผิดและส่งสารสุนัขโอเมก้า จึงแสดงอาการชดเชย, ให้ความสนใจและโอ๋เจ้าโอเมก้าอย่างมากเกินเหตุ หรือแม้แต่ดุว่าตัวอัลฟ่าเมื่อมันแสดงอำนาจในฝูง ซึ่งยิ่งทำให้มันต้องแสดงอำนาจให้ชัดเจนขึ้นไปอีก เพราะมันยิ่งต้องทำให้ตัวอื่นๆมั่นใจในลำดับจ่าฝูงของมัน (ก็เจ้าของไม่ได้เข้าใจเลยว่า มันคือจ่าฝูง)
วิธีการหลีกเลี่ยงสุนัขกัดกัน เราต้องส่งเสริมลำดับตำแหน่งในฝูง ไม่ใช่การลดทอนหรือทำลายสายบังคับบัญชา เราต้องแสดงเสมอๆว่า ตัวอัลฟ่าคือเบอร์หนึ่ง ต้องได้ทักทายก่อน, ต้องได้กินก่อน, ต้องได้เดินนำออกไปข้างนอกก่อน แล้วจึงตามลำดับอื่นๆ เมื่อสุนัขเห็นตำแหน่งตัวมันเองชัดเจน มันก็ไม่ต้องรู้สึกว่ามันต้องต่อสู้กันบ่อยๆ เพื่อยืนยันตำแหน่งซ้ำๆ และสมาชิกทุกๆคนก็มีความสุข
จำไว้ว่า ช่วงรอยต่อการนำสมาชิกใหม่เข้าร่วมฝูง อาจใช้เวลาหลายอาทิตย์ เป็นเดือนหรือหลายๆเดือน ขึ้นกับว่าสุนัขตัวใหม่ปรับตัวเข้ากับฝูงได้ดีเพียงใด (เพราะก็ไม่แน่ว่า ตัวใหม่อาจจะมาเป็นจ่าฝูงเองก็ได้) เจ้าของจึงต้องอดทนและเข้าใจว่า สุนัขเอง ทั้งสมาชิกเก่าและใหม่ ต่างก็เครียดบ้างเหมือนกัน ดังนั้นเรา ในฐานะจ่าฝูงตัวจริงเสียงจริง จึงควรจะนำทีม ด้วยการส่งเสริม, เน้นย้ำ และสร้างความมั่นใจลำดับตำแหน่งให้กับสุนัขในฝูง
ในไม่ช้า ช่วงรอยต่อดังกล่าวก็จะหมดไป และฝูงก็กลับมาสงบเหมือนเดิม
เพิ่มเติม อยากเน้นย้ำว่า สมาชิกมนุษย์ทุกคนใน บ้าน ไม่ควรไปก้าวก่ายการเลือกจ่าฝูงให้กับฝูงสุนัข เช่น ชอบตัวนี้ อยากโหวตให้ตัวนี้เป็นจ่าฝูง หรืออยู่กับนายคนนี้ ตัวนี้เป็นจ่าฝูง แต่ถ้าอยู่กับนายคนนั้น อีกตัวเป็นจ่าฝูง (รับรองมึนตึ๊บ)
สุนัขในฝูงกันเอง มันจะมีวิธีโดยสัญชาติญาณ วิธีโดยทางธรรมชาติในการยอมรับ และเห็นพ้องกันว่า ตัวใดสมควรเป็นจ่าฝูง
มนุษย์อย่างเรา ช่วยไปเลือกจ่าฝูงดีๆของท่านซะเองเถอะ...
อ้างอิงจาก www.boxer-rescue-la.com